การศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม บอลรูม 1 ชั้น 2 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต โดยมี พล.ร.ต. ณัฐพงค์ ญาโณทัยขจิตต์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต (ฝ่ายทหาร) และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้านทั้งวิศวกรรม การเงินและเศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่โครงการ เข้าร่วมประชุม ร่วมกับการประชุมทางไกล ผ่านโปรแกรม zoom รวมผู้เข้าประชุม 500 คน
พล.ร.ต. ณัฐพงค์ ญาโณทัยขจิตต์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต (ฝ่ายทหาร) กล่าวว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก โดยจังหวัดภูเก็ตประสบกับปัญหาการจราจรติดขัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเพียงสายเดียว ที่ใช้ในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตและพื้นที่ทางด้านเหนือของเกาะภูเก็ตกับ ตัวเมืองภูเก็ตรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดของทางหลวงหมายเลข 402 ที่ไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะทำให้ผู้สัญจรเกิดความล่าช้าในการเดินทาง ส่งผลกระทบทางลบต่อการดำรงชีวิตของคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตและประเทศในระยะยาวได้ และได้ขอบคุณ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ที่แก้ไขปัญหาจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยว
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่า กทพ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่โครงการฯ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างต่อเนื่อง 4 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อได้รับรู้ รับทราบข้อมูลความเป็นมาของโครงการ รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาโครงการตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการ รวมทั้งเพื่อแจ้งให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ หรือกลุ่มผู้ถูกเวนคืน ได้รับทราบแผนการดำเนินงานของโครงการตั้งแต่ต้น
โดยแนวเส้นทางโครงการในช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว ได้นำแนวเส้นทางโครงการตามการออกแบบเดิมของกรมทางหลวงมาดำเนินการออกแบบกรอบรายละเอียด โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นที่ กม.0+000 บริเวณ ทางหลวงหมายเลข 4026 ห่างจากแยกทางหลวงหมายเลข 402 และทางหลวงหมายเลข 4026 ประมาณ 850 เมตร เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4026 ในลักษณะทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับเมืองใหม่) ก่อนจะมุ่งลงทิศใต้ ยกระดับเป็นสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 4031 บริเวณ กม.4+450 ผ่านทางหลวงหมายเลข 4030 บริเวณ กม.9+150 เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับบ้านดอน) แล้วจึงตัดผ่านเป็นสะพานยกระดับข้ามถนนทางหลวงชนบท ภก.4015 บริเวณ กม.13+050 ก่อนจะถึงบริเวณ กม.14+450 เชื่อมต่อ ทางหลวงหมายเลข 4025 เป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1) ที่บริเวณ กม.16+100 แนวเส้นทางจะบรรจบกับทางร่วมบรรจบไปเกาะแก้ว (Spur Line) เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2) ที่บริเวณ Premiem Outlet จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่เทือกเขากมลาในลักษณะอุโมงค์ ที่ กม.17+415 – กม.19+165 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งลงใต้ ยกระดับข้ามถนนทางหลวงชนบท ภก.3030
บริเวณ กม.19+600 และจะยกระดับบนถนนวิชิตสงครามบริเวณ กม.21+400 – กม.22+000 แนวเส้นทางมุ่งทิศใต้ข้ามทางหลวงหมายเลข 4029 แล้วจึงเข้าบรรจบกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่ กม.24+447 ระยะทางรวมทั้งหมด 30 กิโลเมตร
ซึ่งเป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออกเต็มรูปแบบ (Full Control of Access) โดยการกั้นรั้วและให้เข้า-ออกทางหลักของโครงการได้เฉพาะจุดที่กำหนด โดยออกแบบเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.50 เมตร เกาะกลาง 16.20 เมตร รองรับการขยายช่องจราจรในอนาคต ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.50 เมตร และเนื่องจากรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออก จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบทางบริการฝั่งละ 2 ช่องจราจรแบบวิ่งสวนทิศทางจราจรตามความเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้ตามเดิม โดยไม่ถูกทางพิเศษปิดกั้น
สำหรับช่วงแนวเส้นทางในการต่อขยายเข้าสู่กะทู้และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง แนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขากมลาซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน จึงออกแบบเป็นอุโมงค์คู่ อุโมงค์ละ 2 ช่องจราจร และช่วงแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่เมืองกะทู้จะออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรมีแนวเส้นทางอยู่บนถนนเดิม
โครงการได้มีการกำหนดรูปแบบทางแยกต่างระดับ และรูปแบบทางขึ้น-ลงของโครงการ ไว้ทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่
- ทางแยกต่างระดับเมืองใหม่ เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4026 (จุดเริ่มต้นโครงการ)
ออกแบบเป็น Trumpet Interchange การจราจรสามารถวิ่งได้อย่างลื่นไหลทุกทิศทางโดยไม่ติดขัด
- ทางแยกต่างระดับบ้านดอน เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4030
ออกแบบทางหลักเป็นสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 4030 ทิศทางเลี้ยวอื่นเป็น 4 แยกสัญญาณไฟ
- ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1 เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4025
ออกแบบเป็น Trumpet Interchange โดยเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 4025 เป็น 3 แยกสัญญาณไฟ
- ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2 เชื่อมต่อระหว่างทางหลักและทางร่วมบรรจบเป็น System Interchange
ออกแบบเป็น Y-Interchange แต่ทิศทางเลี้ยวขวาจากกะทู้ไปทางเกาะแก้วที่มีปริมาณจราจรน้อยจะออกแบบเป็นทางกลับรถ
- ทางแยกต่างระดับบางคู เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4024 (จุดสิ้นสุดทางร่วมบรรจบ)
ออกแบบเป็น Y-Interchange โดยทางหลักเชื่อมเข้าทางหลวงหมายเลข4024 เป็นรูปแบบสะพานยกข้าม
- 6. ทางขึ้น-ลง วิชิตสงคราม เชื่อมต่อกับถนนวิชิตสงครามในลักษณะ 3 แยก ก่อนจะยกระดับเข้าเชื่อมกับทางหลัก
- ทางเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง
และมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษของโครงการ มีทั้งหมด 6 ด่าน โดยแต่ละด่านเก็บค่าผ่านทางมีช่องเก็บค่าผ่านทางในทิศทางเข้าสู่โครงการเป็นช่องทางแบบ Multilane Free Flow (M-FLOW) ขนาด 2 ช่อง ซึ่งสามารถผ่านได้โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ ส่วนทิศทางขาออกจากโครงการมีช่องเก็บค่าผ่านทาง 6 ช่อง โดยเป็นช่องเก็บค่าผ่านทางแบบ M-FLOW 2 ช่อง และแบบ Easy pass หรือระบบเก็บเงินสด 4 ช่อง มีตำแหน่งดังนี้
1 ด่านเมืองใหม่ ตั้งอยู่ที่ กม.2+900 รองรับการจราจรเข้า-ออกจากทางแยกต่างระดับเมืองใหม่
2 ด่านบ้านดอน 1 ตั้งอยู่ที่ กม. 8+700 รองรับการจราจรจากทางแยกต่างระดับบ้านดอน (ทิศทางไปสนามบินภูเก็ต)
3 ด่านบ้านดอน 2 ตั้งอยู่ที่ กม.9+550 รองรับการจราจรจากทางแยกต่างระดับบ้านดอน (ทิศทางไปเมืองภูเก็ต)
4 ด่านม่าหนิก 1 ตั้งอยู่ที่ กม.14+800 รองรับปริมาณจราจรจากทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1
5 ด่านบางคู ตั้งอยู่ที่ กม. 1+600 (ทางร่วมบรรจบ) รองรับปริมาณจราจรจากทางแยกต่างระดับบางคู
6 ด่านม่าหนิก 2 ตั้งอยู่ที่ กม. 16+800 รองรับปริมาณจราจรจากทางขึ้น-ลงกะทู้ และทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2
มีจุดแวะพักสำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
พื้นที่บริการทางพิเศษ (Service Area) ตั้งอยู่ที่ กม. 3+800 (ทิศทางไปสนามบินภูเก็ต) มีขนาด 43 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่จอดรถและมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น อาคารศูนย์อาหารและร้านค้า ศาลาพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ห้องน้ำสาธารณะ และอาคารสถานีบริการข้อมูลข่าวสาร
จุดพักรถ (Rest Stop) บริเวณ กม 16+400 (ทิศทางไปเมืองภูเก็ต) มีขนาดประมาณ 13 ไร่ ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ศาลาพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง และห้องน้ำสาธารณะ
อีกทั้งมีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการเป็นระบบปิด มีการจัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทางและ ตามประเภทรถ หลังจากปีเปิดบริการ (ปีงบประมาณ 2571) อัตราค่าผ่านทางจะถูกปรับขึ้นทุก ๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
โครงสร้างอัตราค่าผ่านทาง ราคา ณ ปีเปิดบริการ ประกอบด้วย อัตราค่าผ่านทางแรกเข้า 40/ 80/ 120 บาทต่อคัน สำหรับรถ 4 ล้อ/ 6-10 ล้อ/ มากกว่า 10 ล้อ และอัตราค่าผ่านทางต่อระยะทาง 1.50/ 3.00/ 4.50 บาทต่อกม. สำหรับรถ 4 ล้อ/ 6-10 ล้อ/ มากกว่า 10 ล้อ
ซึ่งคาดว่าจะขออนุมัติโครงการในปี 2566 ถึง 2567 และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2567 ถึงปี 2569 โดยจะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2568 ถึงปี 2570 และเปิดให้บริการในปี 2571
และโครงการมีมูลค่าลงทุนประมาณ 45,300 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 22,750 ล้านบาท และค่าก่อสร้างโครงการ (รวมค่าควบคุมงาน) ประมาณ 22,550 ล้านบาท โดยโครงการมีความเหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 24.63 และมีอัตราผลตอบแทน
ทางการเงินของโครงการ (FIRR) ร้อยละ 1.53
การประชุมในวันนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลความเป็นมาของโครงการ แนวเส้นทางโครงการ การออกแบบรูปแบบโครงการ และสรุปผลการศึกษาของโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการ
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดในการพัฒนาทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ให้เชื่อมโยงทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการ ในการเดินทางของผู้ใช้เส้นทางทุกกลุ่ม อำนวยความปลอดภัยในการจราจร ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่โครงการในภาพรวม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในระดับประเทศ ต่อไป
“องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทาง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Innovation for better drive and better life”