กทพ. จัดพิธีอันเชิญและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้บนยอดเสา (Pylon)
ของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9
วันนี้ (29 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.29 น. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม จัดพิธีอัญเชิญและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้บนยอดเสา (Pylon) ของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ กทพ. เป็นประธานในพิธีฯ
ในอดีตสะพานพระราม 9 นับเป็นสะพานขึงแห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า “สะพานพระราม 9”
เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา สำหรับการก่อสร้างสะพานพระราม 9 กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) โดยบนยอดเสาขึงสะพานพระราม 9 มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ซึ่งมีนายจรัญ บุรพรัตน์ ผู้ว่าการ กทพ. ในสมัยนั้นเป็นผู้อันเชิญขึ้นไปประดิษฐาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530
ต่อมา กทพ. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จนแล้วเสร็จ ภายใต้ชื่อโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 4 หนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกมากขึ้น
และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระเมตตาประทานให้ กทพ. เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานบนยอดเสาสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ขึ้นประดิษฐานบริเวณด้านหน้าพระพุทธโลกนาถศาสดา เป็นการชั่วคราว ก่อนประกอบพิธีอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดเสาของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้ทางพิเศษในวันนี้ (29 กรกฎาคม 2566)