วันนี้ (11 ตุลาคม พ.ศ. 2566) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโครงการ ความเป็นมาเหตุผลความจำเป็นของการพัฒนาโครงการ ตลอดจนแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญรวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางของโครงการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ณ ห้องประชุม JW Convention Hall เขตสวนหลวงกรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด



จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางสูงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้า ช่วงตั้งแต่บริเวณทางแยกถนนศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการแบบ Single Command

​ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการพัฒนาโครงการฯ ว่า “เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงและมีขอบเขตความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ระบุให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนิน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น”
​ ในการนี้ “โครงการฯ มีขอบเขตกำหนดการศึกษาในด้านต่าง ๆ 5 ส่วนงาน คือ 1) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2) งานสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) 3) งานประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4) งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงการประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) 5) งานจัดทำกรอบสาระสำคัญของประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุน และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 450 วัน เริ่มเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน”

​“ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างอย่างชัดเจน การกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน ไม่ยืดเยื้อ การกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน เป็นต้น” นายสุรเชษฐ์ กล่าวในท้ายที่สุด