พม. ตรัง ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ ห้องภัชรัตน์ โรงแรมวัฒนาพาร์ค อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ส่งเสริมให้รัฐและเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2566” โดยมีนางดาลินี ศรีสุข ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการจังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องจ้างงานคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ โรงเรียนเอกชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) องค์กรคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 100 คน

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2556 ได้มีบทบัญญัติเพื่อสร้างโอกาสและคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการอย่างทั่วถึง รวม ๓ วิธี ได้แก่ มาตรา ๓๓ ว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการทั้งในหน่วยงานของรัฐ และสถานประกอบการภาคเอกชน โดยให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ที่มีจำนวนลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 แสะมาตรา ๓๔ กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนด ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดของประเทศ (328 / 365 วัน x จำนวนคนพิการที่ต้องรับตามอัตราส่วนของสถานประกอบการแต่ละแห่ง รวมทั้งมาตรา 35 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐใช้ทางเลือกอื่น ได้แก่ การให้สัมปทาน จัดสถานที่ จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนการจ้างในตำแหน่งลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานได้

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2566 จังหวัดตรัง มีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างานคนพิการ จำนวน 56 แห่ง ซึ่งมีการจ้างงานคนพิการแล้ว จำนวน 185 คน ยังมีสถานประกอบการที่ยังไม่ดำเนินการจ้างงานคนพิการ และมีบางสถานประกอบการ ที่มีการจ้างงานแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด รวม ๔ แห่ง

 

สุดท้ายนี้ นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามอัตราส่วนที่ตามกฏหมายกำหนด เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีอาชีพและมีงานทำ สามารถดูแลบุคคลในครอบครัวได้ ภายใต้แนวคิด เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม และการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม โดยเร่งสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างมั่นคง ให้กับประชาชนในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง วันนี้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย