วันนี้ (15 ธันวาคม 2566) เวลา 10.00 น. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคมจัดการการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉินและการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางอากาศยาน ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการฝึกซ้อม และในการนี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการ กทพ. ได้กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว 1
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ. เป็นหน่วยงานที่มีส่วนอย่างมากในการช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งนอกจากภารกิจ ในการพัฒนา การให้บริการทางพิเศษแล้ว กทพ. ยังได้ตระหนักและให้ความสำคัญกั บความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเป็นอันดับต้น ๆ โดยจะเห็นได้จาก การจัดการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน และการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางอากาศยาน ร่วมกับ สพฉ. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการฝึกซ้อมในครั้งนี้ด้วย
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่าในรายละเอียดว่า กทพ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญ กับความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในทางพิเศษ ที่มีผลกระทบต่อการใช้ทางพิเศษของผู้ใช้บริการ จึงได้จัดให้มีการฝึกซ้อมการกู้ภัย และให้ความช่วยเหลืออุบัติเหตุร้ายแรงในทางพิเศษ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการกู้ภัย และการให้ความช่วยเหลืออุบัติเหตุร้ายแรงในทางพิเศษ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และถูกวิธี ซึ่งหากจะดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด สำหรับ ประชาชน จำเป็นที่จะต้องอาศัย การบูรณาการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการฝึกซ้อมฯ ในวันนี้ จะจำลองสถานการณ์ให้รถตู้โดยสารเฉี่ยวชนกับ รถนั่งบุคคล ระบบไฟฟ้า (EV) บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว 1 มีกลุ่มควันขึ้นที่รถ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย โดยจะต้องลำเลียง ผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสทางอากาศยาน ในการนี้ กทพ. ได้รับความร่วมมือจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เทศบาลบางแก้ว และสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว ซึ่ง การทางพิเศษฯ ต้องขอขอบคุณ หน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการฝึกซ้อมฯ ในวันนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกู้ภัย การจัดการจราจร การสื่อสาร และการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการประสานงานการบูรณาการ เครื่องมือ กำลังพลและอุปกรณ์ ในการให้ความช่วยเหลืออุบัติเหตุร้ายแรงในทางพิเศษ ร่วมกันระหว่างการท่างพิเศษฯ กับหน่วยงานภายนอก สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ทางพิเศษใน ด้านการให้บริการ และความปลอดภัย” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด