กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเวียดนามเตรียมเดินหน้าก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เส้นทาง หล่าวกาย-กรุงฮานอย-ไฮฟอง เชื่อมต่อกับจีน เริ่มโครงการปี 68 นี้ แนะผู้ประกอบการไทยศึกษา เตรียมพร้อมใช้ประโยชน์ ในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนามและจีนในอนาคต
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.ธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม ถึงความคืบหน้าการเร่งโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีน เส้นทางหล่าวกาย-กรุงฮานอย-ไฮฟอง (Lao Cai–HaNoi-Hai Phong) ภายในปี 2568 และโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีน
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า นายตรัน ฮ่ง มินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เวียดนาม ได้สั่งให้คณะกรรมการโครงการรถไฟ (Board of Railway Project Management), สำนักงานการรถไฟแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam Railway Authority : VNRA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของเส้นทางรถไฟหล่าวกาย-กรุงฮานอย-ไฮฟอง โดยกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาอนุมัติแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟดังกล่าว และนำเสนอต่อต่อสภาแห่งชาติเวียดนามก่อนวันที่ 31 มี.ค.2568 เพื่ออนุมัติและเริ่มดำเนินโครงการในช่วงเดือน พ.ค.2568 โดยโครงการตั้งกล่าว คาดว่าจะดำเนินการใน 2 ระยะ ระยะแรกจะสร้างเส้นทางรถไฟหลักและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้แล้วเสร็จก่อนปี 2573 ส่วนระยะที่สองจะก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ไฮฟอง-กว้างนิญ (Hai Phong – Quang Ninh) ตามแผนการออกแบบหลังปี 2573 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำงบการลงทุนให้ชัดเจน เพื่อให้ทางกระทรวงสามารถเจรจากับพันธมิตรและเร่งการดำเนินโครงการได้อย่างรวดเร็ว โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 11,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 3-4 ปี ซึ่งรวมถึง 7 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การจัดทำและอนุมัติข้อเสนอของโครงการ การตรวจสอบและอนุมัติหลักการลงทุน การเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติ การเจรจาและลงนามในข้อตกลงการกู้ยืม การอนุมัติการออกแบบทางเทคนิค การจัดการประมูลราคา การเจรจาและลงนามในสัญญาก่อสร้าง และการเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟ หล่าวกาย-กรุงฮานอย-ไฮฟอง จะมีมาตรฐานขนาดของรางเท่ากับ 1,435 มม. ซึ่งกว้างกว่ามาตรฐานแบบเดิม พร้อมกับการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานดีเชลเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรองรับทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และจะเชื่อมต่อกับท่าเรือในเมืองไฮฟอง และระบบขนส่งข้ามแดนไปยังประเทศจีน โดยรถไฟจะวิ่งผ่าน 10 จังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟจีนในจังหวัดหล่าวกายและสิ้นสุดที่ทำเรือแหล็กเฮวี่ยน (Lach Huyen) ในเมืองไฮฟอง (Hai Phong) มีระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร (โดยเส้นทางหลักยาวประมาณ 396 กิโลเมตร และมีทางแยกเชื่อมต่อกับท่าเรือนามโดเชิน (Nam Do Son) และท่าเรือดิ่ญหวู (Dinh Vu) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร) 10 จังหวัดที่เส้นทางนี้จะผ่าน ได้แก่ หล่าวกาย (Lao Ca] เอียนบ๊าย (Yen Bai) ฟู้เถาะ (Phu Tho) หวิญฟุก (Vinh Phuc) กรุงฮานอย (Ha Noi) บักนิญ (Bac Ninh) ฮึงเอียน (Hung Yen) หายเชื่อง (Hai Dung) และ เมืองไฮฟอง (Hai Phong) โดยมีแผนขยายเส้นทางต่อไปยังเมืองหะล็อง (Ha Long) ของจังหวัดกว่างนิญ (Quang Ninh)
“ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟของเวียดนามในช่วง 11 เดือนของปี 2567 อยู่ที่ 4,598 พันตัน เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีสัดส่วน 0.2% ของการขนส่งทุกรูปแบบในระบบคมนาคม ดังนั้นการที่ภาคเหนือของเวียดนามเร่งดำเนินการสร้างเส้นทางรถไฟหล่าวกาย-กรุงฮานอย-ไฮฟอง-กว่างนิญ พร้อมกับการปรับปรุงมาตรฐานขนาดของรางรถไฟให้เหมาะสมกับรางรถไฟของจีน เป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายเส้นทางคมนาคมและมุ่งเน้นการเชื่อมต่อกับจีนให้สะดวกและรวดเร็ว เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพิ่มปริมาณสินค้าที่ขนส่งและส่งเสริมมูลค่าการค้าส่งออกและนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารทะเล แร่ธาตุ รวมถึง สินค้าแปรรูปต่าง ๆ เช่น ไม้ยางพารา เป็นต้น โดยสินค้าส่งออกจากไทยที่เข้าสู่ตลาดเวียดนาม สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเส้นทางรถไฟนี้เพื่อประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง และเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าในอนาคตต่อไป”น.ส.สุนันทากล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169