สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อถอดรหัสบทเรียนทางธุรกิจจากผู้รอดชีวิต: อยู่รอดและเติบโตในตลาดโลกหลังโควิด-19 ภายใต้กิจกรรมการศึกษาการจัดทำข้อมูลเครือข่ายผู้ให้บริการและรายละเอียดการให้บริการของต่างชาติ” โดยมี ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมกล่าวเปิดงาน และมี ดร.นิ่มนวล ผิวทองงาม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในพิธี ณ ณ ห้อง Private Red Pepper ชั้น 1 โรงแรม แรมแบรนดท์ โฮเทล (สุขุมวิท 18) กรุงเทพมหานคร
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเสวนาหัวข้อ ถอดรหัสบทเรียนทางธุรกิจจากผู้รอดชีวิต: อยู่รอดและเติบโตในตลาดโลกหลังโควิด-19 ภายใต้กิจกรรมการศึกษาการจัดทำข้อมูลเครือข่ายผู้ให้บริการและรายละเอียดการให้บริการของต่างชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของเครือข่ายพันธมิตรสากล ซึ่งในปัจจุบัน สสว. ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อผลกระทบทั้งทางด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น เมื่อ SMEs ไทยก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ SMEs ของไทย พบว่า มีระดับการเข้าสู่สากลน้อยเกินไป ทั้งในแง่ของจำนวน SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและมูลค่าการส่งออก จึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศให้ได้มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
สสว. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาข้อมูลการตลาดต่างประเทศเชิงลึกที่จะช่วยสนับสนุน SMEs ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ หรือเรียกว่า Market intelligence ที่ครบถ้วน เพื่อให้ SMEs มีข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมทางการตลาดของประเทศคู่ค้าที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก พฤติกรรมผู้บริโภค กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ขั้นตอนการส่งออก หน่วยงานสำคัญ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ SMEs วิเคราะห์ถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ดังกล่าวข้างต้น สสว. จึงเห็นควรให้ดำเนิน “กิจกรรมการศึกษาการจัดทำข้อมูลเครือข่ายผู้ให้บริการและรายละเอียดการให้บริการของต่างประเทศ” โดยร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาให้มีข้อมูลสนับสนุนการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ (Market intelligence) ของ สสว. และเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต //