เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) หรือ APCD จัดแถลงข่าว ผลการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Press conference on CRPD Monitoring and Implementation in Thailand) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและสิทธิมนุษยชนให้แก่คนพิการทุกกลุ่ม ให้มีโอกาสและเสรีภาพในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียม ให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสหารือแนวทางในการปรับปรุงการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) สรุปภาพรวมถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตาม CRPD ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤศจิกายนในปีนี้ และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินงานตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทยและระดับสากล ทั้งนี้ การร่วมมือกับ APCD ช่วยให้โครงการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลคนพิการนี้มีความครอบคลุมและสามารถตอบสนองต่อการพัฒนานโยบายและแผนงานเพื่อคนพิการในทุกด้าน
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย
1. เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสหารือแนวทางในการปรับปรุงการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญา CRPD
2. เพื่อสรุปภาพรวมถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญา CRPD
3. เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในการดำเนินการตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทย
4. เพื่อส่งเสริมการรับรู้สิทธิของคนพิการและการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในระดับประเทศและสากล
5. เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินงานตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทยและระดับสากล
ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “CRPD เพิ่มโอกาสและสร้างคุณค่าคนพิการไทย” เ เพื่อเน้นย้ำการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการและการปฏิบัติตตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พร้อมด้วยการเปิดเวทีเสวนาระหว่างภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมองค์กรคนพิการ และองค์การระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในการขับเคลื่อนงานคนพิการไทยในการพัฒนากระแสหลัก ตามกรอบอนุสัญญา CRPD และยังมีบูทนิทรรศการจัดแสดงนวัตกรรมการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งตอกย้ำถึงความพร้อมของไทยในการดำเนินงานด้านคนพิการสู่ระดับสากล”
โดยภายในงานนี้ได้มีการจัดเสวนาขึ้น ในประเด็น “ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านคนพิการในประเทศไทยและบูรณาอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายในระดับสากล” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางวรรณภา สุขคง,
รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายเอกกมล แพทยานันท์ อุปนายกคนที่ 1 และประธานฝ่ายต่างประเทศและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก และ Ms. Min Kyong Kim, Social Affairs Officer, Social Development Division, United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้
ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อินชอนเพื่อสิทธิของคนพิการในเอเชียและแปซิฟิก (ระยะที่ ๒)” ซึ่งดำเนินงานร่วมกับ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) และได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านคนพิการที่ใช้ในการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการผ่านการจัดทำเครื่องมือที่รวบรวมและเก็บข้อมูลการดำเนินงานด้านคนพิการของหน่วยงานต่าง ๆ
ทางด้านกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ พก. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแล กำกับ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการในประเทศไทย มีการพัฒนาด้านคนพิการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และประกันให้คนพิการทั้งปวงได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการทุกรูปแบบ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ การทำงาน การรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
ในส่วนของศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ได้เข้ามามีบทบาทในด้านการดำเนินงานด้านคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อีกทั้งให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงการเก็บข้อมูลการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการติดตามการดำเนินการตามกรอบนโยบายระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD), เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), และยุทธศาสตร์อินชอนเพื่อ “ทำสิทธิให้เป็นจริง” สำหรับคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรอบเหล่านี้เน้นความจำเป็นของข้อมูลที่ถูกต้องและแยกตามประเภท เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบาย ติดตามความก้าวหน้า และระบุช่องว่างที่ยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการเก็บข้อมูลในปัจจุบันมักไม่เพียงพอ และยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการยังขาดความชัดเจนและยังไม่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ดังนั้น โครงการศึกษานี้จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ และนำผลการวิเคราะห์ไปติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านคนพิการได้อย่างครอบคลุม และสนับสนุนการพัฒนานโยบายให้มีความครอบคลุมทุกประเด็นด้านคนพิการอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรทั้งหลายในเอเชียและแปซิฟิก และส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์อินชอน และปฏิญญาจาการ์ตาว่าด้วยทศวรรษคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ได้ให้การสนับสนุนโครงการการศึกษานี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการในการเก็บและใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สิทธิและเสรีภาพของคนพิการกลายเป็นความจริงในที่สุด
สุดท้ายนี้ทางด้าน นายเอกกมล แพทยานันท์ อุปนายกคนที่ 1 และประธานฝ่ายต่างประเทศและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม CRPD คือ การเสริมพลังสร้างความเข็มแข็งให้แก่คนพิการและองค์กรของคนพิการ เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าของสิทธิเองแล้ว ยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการนำกฎหมายและนโยบายไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งสิทธิของคนพิการจะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามหลักการการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงคนพิการ Disability Inclusive Development หรือ DID โดยขอฝากให้ทุกภาคส่วนนำหลักการ DID ของท่านอาจารย์มณเฑียรไปสานต่อด้วย”