สมาคมบาริสต้าไทย ร่วมกับ มศว.ประสานมิตร และ บพท. โดย SCA จัดสัมมนา “SCA Educator Summit” ครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งเสริมทักษะให้ SCA trainer ทั่วโลก พร้อมจัดตั้ง ‘ศูนย์สอน-ศูนย์สอบวิชาชีพกาแฟที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย และอาเซียน’ ก่อนกระจายไปยังมหาวิทยาลัยทั่วไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Coffee Education hub ของภูมิภาคอาเซียน
สมาคมบาริสต้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดงานสัมมนา “SCA Educator Summit” ประจำปี 2567 โดยสมาคมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee Association หรือ SCA) ในวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
นายมีชัย อมรพัฒนกุล นายกสมาคมบาริสต้าไทย กล่าวถึงการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า สมาคมกาแฟพิเศษ (SCA) ซึ่งสมาคมกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานต่างๆของคุณภาพกาแฟที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก SCA ยังมีหลักสูตรอบรมพัฒนาวิชาชีพกาแฟ SCA Education program เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีผู้ฝึกสอนของ SCA กระจายอยู่ทั่วโลก SCA ได้จัดการอบรมเสริมสร้างทักษะการสอนให้กับ SCA trainer ตามภูมิภาคต่างๆ โดยครั้งนี้ ถือเป็นการจัดสัมมนาครั้งแรกในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสสำคัญ ที่ผู้ฝึกสอนของ SCA ในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้กันอย่างคับคั่ง ซึ่งนอกจากผู้ร่วมงานสัมมนาจะได้รับการพัฒนาทักษะความรู้แล้ว ทางสมาคมฯได้นำกาแฟคุณภาพของประเทศไทยไว้เสิร์ฟตลอดการสัมมนา
ถือเป็นช่องการประชาสัมพันธ์กาแฟคุณภาพของประเทศไทยไปต่างประเทศ ผ่านผู้ฝึกสอนของ SCA
สำหรับสมาคมบาริสต้าไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 ผู้ประกอบวิชาชีพ“บาริสต้า” มิได้เป็นเพียงแค่ผู้ชงกาแฟเท่านั้น แต่เป็น ตัวแทนของผู้ผลิตกาแฟตลอดห่วงโซ่อุปทานในสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค ได้รับรู้ถึงคุณภาพของกาแฟ เข้าใจและยอมรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นการผลิตของกาแฟคุณภาพ บาริสต้าจึงเปรียบเสมือนเชฟของกาแฟ หรือ เป็นโฆษกของอุตสาหกรรมกาแฟ
ซึ่งสมาคมบาริสต้าไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพของอุตสาหกรรมกาแฟ และเสริมสร้างพัฒนาเครือข่ายวงการกาแฟของไทย และทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณภาพกาแฟ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของไทยอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สมาคมบาริสต้าไทย ได้มีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในการจัดตั้งศูนย์สอนและศูนย์สอบวิชาชีพกาแฟที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย และอาเซียน ให้เป็นศูนย์ต้นแบบ พร้อมร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขยายศูนย์สอนและศูนย์สอบวิชาชีพกาแฟไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยสมาคมบาริสต้าไทยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านกาแฟของภูมิภาคอาเซียน พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับประเทศและทั่วโลก
สำหรับศูนย์สอนและศูนย์สอบวิชาชีพกาแฟของประเทศไทยและอาเซียน จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพกาแฟตามมาตรฐาน ทั้งหลักสูตรของประเทศไทย อาเซียน (ACF)และสากล (SCA) นับเป็นศูนย์เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนานาชาติ เพื่อพัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟของไทย
อย่างไรก็ตาม สมาคมบาริสต้าไทย ได้มีกรอบความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันกาแฟร่วมกับทั้งระดับภูมิภาคคือ สมาพันธ์กาแฟอาเซียน ACF และระดับโลกกับ SCA เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งระดับอาเซียนและระดับโลก ซึ่งจะมีโครงการที่พัฒนาหลักสูตรร่วมกันในอนาคตต่อไปอีกด้วย
“เนื่องจากอุตสาหกรรมกาแฟ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า ในปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้นำกาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพบาริสต้าในปัจจุบันมากครึ่ง มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะหลักสูตรที่ฝึกอบรมวิชาชีพบาริสต้าที่ได้มาตรมีมาตรฐาน มีค่าเรียนค่อนข้างสูง สมาคมบาริสต้าไทย จึงตระหนักในเรื่องนี้ เป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเปราะบาง ลดต้นทุนในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะความรู้ ตลอดจนการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของบาริสต้า โดยเปิดกว้างและไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของวุฒิการศึกษาสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่การพัฒนาศักยภาพวิชาชีพบาริสต้า ทำให้พวกเขาสามารถเข้าสู่วิชาชีพบาริสต้า และมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาของตนเอง ซึ่งวิชาชีพบาริสต้าสามารถสะสมประสบการณ์ และพัฒนาตนเองแล้ว ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ และสำหรับคนที่มีความรู้ด้านภาษา ก็สามารถเข้าสู่วิชาชีพบาริสต้าในต่างประเทศได้อีกด้วย” นายกสมาคมบาริสต้าไทย กล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในนามของ มศว. โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมกาแฟเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากอาชีพบาริสต้าได้รับการรับรอง มีใบ Certificate ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่เป็นบาริสต้าได้ ขณะที่ทางมศว.ก็มีอาจารย์ที่ทำงานทางด้านนี้ และมีความสามารถในการหมักเมล็ดกาแฟ ทำให้มีกลิ่นและรสที่มีความพิเศษ และเพิ่มมูลค่าของเมล็ดกาแฟให้กับเกษตรกรได้ด้วย เพราะฉะนั้น มศว.จึงเล็งเห็นความสำคัญ และได้ร่วมมือกับสมาคมบาริสต้าไทยเพื่อเป็นศูนย์ในการอบรมให้กับผู้ที่สนใจที่จะเป็นบาริสต้า ให้ได้รับใบ Certificate ที่สามารถไปทำงานและช่วยเพิ่มค่าแรงได้สูงขึ้น โดยขณะนี้ อยู่ในช่วงของการร่าง MOU ระหว่างมศว.และสมาคมบาริสต้าแห่งประเทศไทย รวมถึง SCA ซึ่งเชื่อว่า มศว. ก็เป็นต้นแบบที่จะขยายต่อไปในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคตได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ด้าน นายมนตรี จงวิเศษ หัวหน้าโครงการคลัสเตอร์กาแฟ ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม (Cluster) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระบุว่า บพท.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนในเรื่องของกาแฟ เนื่องจากเห็นความเจริญเติบโตของกาแฟโลกมาสู่กาแฟไทย ซึ่งปัจจุบัน ปริมาณกาแฟที่ผลิตได้ในไทยนั้น มีน้อยมาก ประมาณ 20,000 กว่าตัน ขณะที่ในเวลาหนึ่งปีใช้ถึงประมาณ 100,000 กว่าตัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากให้การสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างดี วงการกาแฟก็จะเจริญเติบโตได้มากขึ้น อีกทั้ง บพท. ยังเห็นว่า “บาริสต้า” มีส่วนสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงตลอดทั้งห่วงโซ่ของการผลิตกาแฟ ซึ่งกาแฟสามารถเจริญเติบโตทางด้านการตลาดได้มากถึง 25-30% จึงเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพราะจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มด้วย และเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมกาแฟอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีนี้ ที่จะเป็นจุดพีค ดังนั้น บพท.ก็จะทำให้ทุกวิถีทางให้กาแฟเจริญเติบโตตามเส้นทางของกาแฟ ซึ่งเราก็ได้คุยกับ SCA และคาดว่า สมาคมบาริสต้าไทย จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟได้ รวมถึงรายได้ของบาริสต้า ที่หากได้มีการเรียนรู้ฝึกฝน จนกระทั่งได้รับใบ Certificate ก็จะทำให้ได้รับเงินเดือนที่มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้พัฒนาตัวเอง พร้อมส่งเสริมให้กาแฟไทยก้าวไปสู่กาแฟโลก ซึ่งคาดว่า ปี 2026 น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่อาจจะมีกาแฟโลกที่ไทยเป็นครั้งแรก