วันที่ 21 มกราคม 2568 เวลา 10.00 น. เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับพื้นฐาน มูลนิธิเพชรเกษม (ประจวบคีรีขันธ์) มูลนิธิเพชรเกษม (ยโสธร) กรณีไม่ควบคุมและดูแลผู้ปฏิบัติการให้ปฏิบัติการฉุกเฉินตามการอำนวยการหรือคำสั่งการแพทย์ ด้านประธานมูลนิธิเพชรเกษมได้มอบอำนาจให้ตัวแทนมูลนิธิเพชรเกษม ทั้ง 2 จังหวัด เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จาก สพฉ. ในข้อหา ไม่ควบคุมและดูแลผู้ปฏิบัติการให้ดำเนินการปฏิบัติการฉุกเฉินตามการอำนวยการหรือคำสั่งการแพทย์ อันเป็นการกระทำที่มีลักษณะฝ่าฝืนประกาศที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกำหนดตามมาตรา 29 (1) แห่ง พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 5 (2) ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 อันมีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ในสามกรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 มูลนิธิเพชรเกษม (ประจวบคีรีขันธ์) ขับรถลักษณะคล้ายรถพยาบาลฉุกเฉิน ย้อนศรบนถนนไปยังจุดเกิดอุบัติเหตุรถชนเพื่อปฏิบัติการฉุกเฉินโดยปราศจากการอำนวยการหรือคำสั่งการแพทย์ เหตุเกิดบริเวณถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร

กรณีที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 มูลนิธิเพชรเกษม (ประจวบคีรีขันธ์) ปฏิบัติการฉุกเฉินโดยปราศจากการอำนวยการหรือคำสั่งการแพทย์ เหตุเกิดบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

กรณีที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 มูลนิธิเพชรเกษม (ยโสธร) ปฏิบัติการฉุกเฉินโดยปราศจากการอำนวยการหรือคำสั่งการแพทย์ เหตุบริเวณพื้นที่ย่านพระรามเก้า เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิเพชรเกษม 2 จังหวัด ดังกล่าว เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อกล่าวหาทั้ง 3 กรณี ต่อนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานสำนักกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน ว่า “ปัจจุบันมูลนิธิเพชรเกษมอยู่ในระหว่างการยื่นขออนุมัติเป็นหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว” หลังจากนี้ สพฉ. จะรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นต่อคณะอนุกรรมการสอบสวน และพิจารณาโทษปรับทางปกครองต่อไป