MCS พร้อมเดินหน้าเจรจาหาโครงการใหม่เพิ่ม ล่าสุดตุนงานในมือยาวถึงปี 2575 ด้านผู้บริหาร ‘ดร.ไนยวน ชิ’ มองโอกาสการได้โปรเจกต์ใหม่หนุนพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพด้านการผลิต ส่วนประเด็นอาคารถล่มในไทยไม่ชี้ขาดเนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบโดยส่วนงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ระบุสาเหตุที่มีความเป็นไปได้ที่อาคารถล่ม เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก 1.การก่อสร้างไม่ดี 2.วัสดุก่อสร้างไม่ถูกต้องไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด 3.ออกแบบไม่ตรงตามมาตรฐาน แนะเหล็กโครงสร้างทางเลือกใหม่ก่อสร้างอาคารสูง

ดร.ไนยวน ชิ ประธานกรรมการและที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) (MCS) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการเจรจาและเซ็นสัญญารับจ้างผลิตโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีงานรองรับการผลิตล่วงหน้า โดยเป็นงานในมือจนถึงปี พ.ศ. 2575 โดยการรับงานอย่างต่อเนื่องของบริษัทช่วยพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิต ส่งผลดีต่อโครงการใหม่ๆที่ต้องการความน่าเชื่อถือและความเชี่ยวชาญ จนทำให้ MCS ได้รับงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทเลือกคู่ค้าหลักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการกำหนดมาตรฐานเหล็กโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มีความเข้มงวดสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหว โดย MCS เป็น บริษัทเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในต่างประเทศที่ได้มาตรฐานในการรองรับการผลิตโครงสร้างงานขนาดใหญ่ (S Grade) ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทที่ได้รับมาตรฐานนี้ประมาณ 10 ราย จึงทำให้ได้เปรียบในการทำธุรกิจ อีกทั้งอัตราการแข่งขันของคู่แข่งอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนน้อยรายที่สามารถทำได้เมื่อเทียบกับการทำการค้าเหล็กแบบทั่วไป จึงช่วยลดปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่บริษัทต้องเผชิญและทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน

สำหรับปัจจัยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากคู่ค้าหลักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณ 90% ของงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารสูงในโตเกียว โดยบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจผลิตเหล็กเส้นหรือเหล็กรีดร้อน แต่เป็นผู้นำเข้าเหล็กรีดร้อนมาตรฐานสูงจากประเทศญี่ปุ่นนำมาประกอบตามการออกแบบของลูกค้าและนำส่งกลับติดตั้ง ซึ่งคุณภาพตรงกับการรับรองมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้การก่อสร้างในประเทศไทยที่ผ่านมานิยมก่อสร้างด้วยคอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริษัทจึงเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีเหล็กโครงสร้างมาใช้ในไทยเพื่อรองรับแผ่นดินไหวหลังจากที่เกิดเหตุแล้วจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการทางเลือกมากขึ้น โดยใช้เหล็กโครงสร้างที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศไทย

“หากผมออกความคิดเห็นประเด็นเกี่ยวกับตึกถล่มน่าจะไม่เหมาะสม เพราะอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องชี้แจง ส่วนตึกที่มีการก่อสร้างบนโลกใบนี้ทั้งหมด มีเพียง 3 สาเหตุที่จะถล่มได้คือ ก่อสร้างไม่ดี วัสดุการก่อสร้างไม่ถูกต้อง และการออกแบบไม่ตรงตามแบบหรือมาตรฐานเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการตั้งมาตรฐานในแต่ละประเทศต้องอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เช่น ในประเทศไทย เคยเกิดแผ่นดินไหวที่ระดับใด ควรอ้างอิงมาตรฐานการก่อสร้างในระดับที่เคยเกิด หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นเคยเกิดแผ่นดินไหวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงในระดับสูงที่ระดับ 6.7-6.8 ก็จะมีการตั้งมาตรฐานในการสร้างอาคารสูงต้องรองรับแผ่นดินไหวขั้นต่ำตามระดับที่เคยเกิด บวกกับ Safety Factor ของผู้ออกแบบแต่ละราย ซึ่งการประเมินระดับการรองรับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น จะมีการประเมินปรับมาตรฐานเมื่อเกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้มีการปรับขึ้นในทุกๆปี” ดร.ไนยวน ชิ กล่าว

ขณะที่ผลกระทบด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้บริหารระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้น เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจในการนำเข้าเหล็กมาตรฐานสูงจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาประกอบเป็นเหล็กโครงสร้างในประเทศไทย และดำเนินการส่งกลับประเทศญี่ปุ่นเพื่อก่อสร้างตามแบบของลูกค้า ซึ่งคู่ค้าสำคัญของบริษัทกว่า 90% อยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทไม่ได้มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีระยะทางที่ไกล ไม่คุ้มค่าต่อการขนส่ง จึงไม่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายดังกล่าวที่เกิดขึ้น

 

ข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัท

บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) “MCS” ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ที่สามารถป้องกันแผ่นดินไหว อาทิ โครงสร้างเหล็กของอาคารสูง โรงไฟฟ้า สนามบิน และสะพาน อีกทั้งสามารถส่งออกงานโครงสร้างเหล็กสำหรับโครงการต่างๆให้แก่ลูกค้าได้ ปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นประมาณ 90% และเป็นบริษัทในต่างประเทศแห่งเดียวที่ได้รับมาตรฐานการผลิตโครงสร้างขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น (S Grade) ทั้งนี้บริษัทมีความเชี่ยวชาญและดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 33 ปี