กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ร่วมกับกองทุนประกันชีวิต (กปช.) เดินหน้าส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค จัดโครงการบูรณาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการชำระบัญชี การพิจารณาคำทวงหนี้ และการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมทั้งเผยแพร่บทบาท หน้าที่ และภารกิจ
ของกองทุนประกันชีวิตในการดูแลผู้เอาประกันชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเจ้าของเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ณ โรงแรมวิศมา จังหวัดราชบุรี
การจัดโครงการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อระบบประกันภัย รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล และคุ้มครองสิทธิ
ของผู้เอาประกันภัยในภาคธุรกิจประกันภัยอย่างรอบด้าน ในส่วนของ กองทุนประกันวินาศภัย นำทีมโดย
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้บรรยายซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้ในหัวข้อ “กระบวนการชำระบัญชีของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต” โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ ขั้นตอนการยื่นคำขอรับชำระหนี้ การพิจารณาคำขอชำระหนี้ และกระบวนการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้
ตามสัญญาประกันภัย เพื่อให้เจ้าหนี้สามารถเข้าใจสิทธิของตนเองและดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้อย่างถูกต้องและทันเวลา การให้ข้อมูลเชิงลึกในประเด็นดังกล่าวถือเป็นการตอบโจทย์ความจำเป็นของประชาชนในยุคที่ระบบประกันภัยมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีบริษัทประกันวินาศภัยบางแห่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจ
ได้ต่อไป จนต้องเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชี ซึ่งในกรณีเช่นนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะมีบทบาทเข้ามาดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะเดียวกัน กองทุนประกันชีวิต ในฐานะอีกกองทุนหลักในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันชีวิต ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการเผยแพร่ความรู้ด้านบทบาท ภารกิจ และหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิต
ซึ่งบรรยายโดย นายกรัณย์ทัศ รักษ์ธรรมกิจ รักษาการหัวหน้าส่วนกลยุทธ์และส่งเสริมประชาสัมพันธ์
โดยเน้นในกลุ่มเป้าหมายเจ้าของเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากสำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดราชบุรี เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อภารกิจและบทบาทของ คปภ.
ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย ซึ่งครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา การดำเนินการเรื่องร้องเรียน
ข้อพิพาท รวมถึงการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
การจัดโครงการครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของทั้งสองกองทุน พร้อมส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของกองทุนที่ไม่เพียงทำหน้าที่ชดใช้ความเสียหาย แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบประกันภัย